วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555

ผักกวางตุ้ง

ผักกวางตุ้ง

ชื่อสามัญ : ผักกวางตุ้ง (Chinese Cabbage-PAI TSAI )
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Brassica chinensis Jusl var parachinensis (Bailey) Tsen & Lee
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น : ผักกาดเขียว กวางตุ้งไต้หวัน กวางตุ้งฮ่องเต้ ผักกาดฮ่องเต้
ประโยชน์และสรรพคุณ
ผักกวางตุ้งเป็นผักอวบน้ำ กากใยมากแต่มีไขมันน้อย ทำให้ไม่อ้วนและช่วยให้ขับถ่ายสะดวก นอกจากนี้ยังมีวิตามินสูง คือมีวิตามินซีถึง 6 มิลลิกรัม/100 กรัมที่บริโภค และยังมีแคลเซียมสูงถึง 8.5 มิลลิกรัม/100 กรัม นอกจากนี้มีเบต้าแคโรทีนมากถึง 225 ไมโครกรัม/100 กรัมที่บริโภค ซึ่งช่วยบำรุงสายตาและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายได้ดี
วีธีการปรุงผักกวางตุ้ง
- ในผักกวางตุ้งมีสารไธโอไซยาเนต ซึ่งเป็นสารที่พบในผักกะหล่ำ ผักกาด และผักกวางตุ้ง การทานสารชนิดนี้ในปริมาณมากจะทำให้ท้องเสีย ความดันเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย ดังนั้นจึงไม่ควรปิดฝาเวลาผัดหรือต้ม เพื่อให้สารสารนี้สามารถระเหยออกไปกับไอน้ำได้
- ควรปรุงผักกวางตุ้งโดยใช้เวลาไม่เกิน 1-2นาที เพื่อให้วิตามินซีและเบต้าแคโรทีนยังคงอยู่
ลักษณะทั่วไป
ผักกวางตุ้งสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของไทย ปลูกได้ทั้งปี ชอบดินที่ร่วนปนทรายที่มีอินทรียวัตถุสูง มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี ค่าความเป็นกรดด่าง 6-6.8 เป็นผักที่ต้องการน้ำมาก ความชื้นสม่ำเสมอ และแสงแดดตลอดทั้งวัน  นิยมปลูกผักกวางตุ้งใบเพราะอายุเก็บเกี่ยวสั้น
การปลูก
ผักกวางตุ้งมีระบบรากตื้น นิยมเตรียมแปลงโดยพลิกหน้าดินตากแดดไว้ 7 วัน ขุดดินลึกประมาณ 20-30 ซม.ใส่ปุ่ยหมักหรือปุ๋ยคอก 2 กก./1 ตรม. คลุกให้เข้ากัน รดน้ำให้ชุ่มทิ้งไว้ 3-5 วัน
การปลูกแบ่งเป็น 2 วิธี คือ
1.หว่านเมล็ดในแปลง เนื่องจากเมล็ดเล็กมาก ควรนำเมล็ดคลุกกับทราย อัตราส่วน 1:3 แล้วจึงหว่านกระจายทั่วแปลง กลบบางๆด้วยดิน+ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก คลุมด้วยฟางแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
2.โรยเมล็ดเป็นแถว ทำร่องลึกประมาณ 1.5-2 ซม. ระยะห่างแถว 20-25 ซม. โรยเมล็ดแล้วกลบด้วยดิน+ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก คลุมด้วยฟางแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 4-5 ใบ ให้ถอนแยกเป็นหลุมละต้น ระยะห่างต้น 20-25 ซม. พรวนดินและกำจัดวัชพืช รดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ให้ปุ๋ยเร่งใบเช่นปุ๋ยยูเรีย หรือฉีดน้ำหมักจุลินทรีย์สูตรเร่งใบ
การเก็บเกี่ยว
เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อ 35-45 วัน โดยใช้มีดคมๆตัดโคนทั้งต้น ควรเก็บผักที่อุณหภูมิต่ำจะช่วยให้เก็บรักษาได้นาน
แมลงและศัตรูพืชและโรคของผักกวางตุ้ง
แมลงที่พบ ได้แก่ หนอนใยผัก ด้วงหมัดผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนเจาะยอดกะหล่ำ กำจัดโดยนำเมล็ดสะเดา 1 กก. แช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืร กรองเอาหัวเชื้อ 1 ลิตรผสมน้ำ 18 ลิตรฉีดพ่นทุก 3 วัน
โรคที่พบ ได้แก่ โรคกล้าเน่า โรคราน้ำค้าง โรคใบจุด โรคใบแห้ง ควรป้องกันโดยปรับดินด้วยปูนขาวอัตรา 200-400 กก./ไร่  แช่เมล็ดก่อนปลูกในน้ำอุ่นนาน 15-20 นาที ช่วยลดความเสียหายเนื่องจากโรคกล้าเน่า โรคราน้ำค้าง โรคใบจุด และโรคเน่าดำ ไม่เพาะกล้าแน่นเกินไป ไม่รดน้ำมากเกิน
แหล่งที่มาhttp://www.ผัก.net/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น